ข้อมูลทั่วไปของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์
ชื่อหน่วยงาน (ภาษาไทย) : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์
ชื่อหน่วยงาน (อังกฤษ) : PhetchabunProvicial Public Health Office.
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์: ตั้งอยู่เลขที่ 72 ถนนนิกรบำรุง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์
จังหวัดเพชรบูรณ์ 67000
โทรศัพท์ : 056-711010 โทรสาร : 056-711299 E-mail address :http://www.phetchabunhealth.go.th
ข้อมูลทั่วไปของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์
สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2495 เดิมเป็นสำนักงานอนามัยจังหวัด โดยมีขุนสะอาดเวชกร เป็นนายแพทย์ใหญ่ประจำจังหวัดคนแรก จากนั้นได้เปลี่ยนรูปแบบการบริหารเป็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตามการปฏิรูปโครงสร้างระบบบริหารของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นรูปแบบ สำนักงานสาธารณสุขในส่วนภูมิภาค เดิมงานบริการสาธารณสุข แบ่งออกเป็น สำนักงานอนามัยจังหวัด มีหน้าที่หลักในการป้องกัน ควบคุมโรค และส่งเสริมสุขภาพอนามัย ฯลฯ ขึ้นตรงกับกรมอนามัย และโรงพยาบาลจังหวัด มีหน้าที่ในการรักษาพยาบาลประชาชน ขึ้นตรงกับกรมการแพทย์
ต่อมาในปี พ.ศ.2516 นโยบายรัฐบาลได้จัดให้รวมงานด้านป้องกันและรักษาพยาบาล ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยยังให้คงงานของกรมการแพทย์ กรมอนามัยได้เช่นเดิม แต่รูปแบบและนโยบายการบริหารให้รวมอยู่ภายใต้ปลัดกระทรวง และคณะกรรมการบริหารของกระทรวงฯ ส่วนงานในส่วนภูมิภาคได้มีการกระจายอำนาจ ให้มีผู้ควบคุมงานโรงพยาบาล และงานของสำนักงานอนามัยให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ตำแหน่งหน้าที่ ดังกล่าวคือ นายแพทย์ใหญ่ประจำจังหวัด และในระยะเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสาธารณสุขจังหวัด ทางด้านโรงพยาบาลยังคงมีตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งแบ่งออกเป็นโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ตามสภาพของงาน งานด้านอนามัยได้รับการปฏิรูปออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ ประกอบด้วย
- ฝ่ายบริหาร ขึ้นตรงต่อนายแพทย์ ใหญ่จังหวัด มีงานต่าง ๆ เช่น งานเอกสาร งานบุคลากร งานการเงิน การพัสดุ
- ฝ่ายแผนงานประเมินผล มีหน้าที่จัดรวมแผนงาน กำกับแผนงาน รวบรวมข้อมูลและประเมินผลงาน ฯลฯ
- ฝ่ายฝึกอบรมเผยแพร่ จัดทำการฝึกอบรมเผยแพร่และประชาสัมพันธ์แก่เจ้าหน้าที่ จัดการประชุมต่าง ๆ ตลอดจนให้การสุขศึกษา ฯลฯ
- ฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่งานส่งเสริมสุขภาพประชาชน เช่น งานอนามัยแม่และเด็ก งานอนามัยโรงเรียน ฯลฯ
- ฝ่ายป้องกันควบคุมโรค มีหน้าที่ควบคุมป้องกันโรคติดต่อต่าง ๆ เช่น งานควบคุมโรคระบาด ฉีดวัคซีน
- ฝ่ายสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การสุขาภิบาล ควบคุมความสะอาด (โรงแรม โรงงานอุตสาหกรรม ตลาด ฯลฯ) การกำจัดขยะ การจัดแหล่งน้ำ (ประปาหมู่บ้าน) ส่งเสริมสร้างส้วมให้ชุมชน ฯลฯ
- ฝ่ายรักษาพยาบาล ได้แก่ การส่งเสริมแนะนำงานรักษาพยาบาลให้แก่สถานบริการระดับปลาย เช่น สถานีอนามัย การเตรียมเวชภัณฑ์และจัดสรรเวชภัณฑ์ให้หน่วยงานท้องถิ่น รวมทั้งงานสาธารณสุขเคลื่อนที่
- ฝ่ายเภสัชกรรม เป็นฝ่ายที่ตั้งขึ้นภายหลัง เป็นหน่วยงานจัดซื้อจัดหาเวชภัณฑ์ให้หน่วยงานสาธารณสุข ตามความต้องการของจังหวัด ฯลฯ
- ฝ่ายทันตกรรม เป็นหน่วยงานเพิ่มขึ้นภายหลัง มีหน้าที่ให้บริการตามความเหมาะสมในสถานที่ให้ทันตสุขศึกษา ตลอดจนการบริการหน่วยเคลื่อนที่
หน่วยงานตามข้อ 2-8 เป็นหน่วยงานด้านวิชาการ งานบริการ จึงมีผู้ช่วยรับผิดชอบจากสาธารณสุข ควบคุมด้านวิชาการและบริการอีกผู้หนึ่ง เรียกว่าผู้อำนวยการสำนักวิชาการและบริการสาธารณสุขเรียกชื่อย่อว่า ส.ว.บ.ส. ส่วนหน่วยงานโรงพยาบาลขนาดย่อยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตามอำเภอ เรียกว่าโรงพยาบาลชุมชนนั้น มีผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารตามนโยบายและแผนที่วางไว้จากจังหวัด ปัจจุบันรูปแบบการบริหารและการบริการได้มีวิวัฒนาการไป
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งดำเนินการจัดการการบริหารทางด้านสาธารณสุข หน่วยราชการทางการแพทย์ระดับจังหวัด มีหน้าที่ป้องกัน ดูแล แก้ปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนในจังหวัดแบ่งออกเป็น 13 กลุ่มงาน และ 1 งาน ได้แก่
- กลุ่มงานบริหารทั่วไป
- กลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข
- กลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ
- กลุ่มงานควบคุมโรค
- กลุ่มกฏหมาย
- กลุ่มงานทันตสาธารณสุข
- กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริการ
- กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคสาธารณสุข
- กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล
- กลุ่มงานประกันสุขภาพ
- กลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อม
- กลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ
- กลุ่มงานแพทย์แผนไทย
- งานตรวจสอบภายใน(ขึ้นตรงต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด)
นองจากนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ยังเป็นแม่ข่ายควบคุมดูแลโรงพยาบาลภาครัฐในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 11 แห่ง แบ่งเป็น
โรงพยาบาลทั่วไป 2 แห่ง
โรงพยาบาลชุมชน 9 แห่ง
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 11 แห่ง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ แพทย์ใช้ทุน/แพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่นๆ ตลอดจนเป็นแหล่งวิจัยของบุคลากร สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพต่างๆ